บทที่ 5 สถาบันสนับสนุนทางธุรกิจ

บทที่ 5
สถาบันสนับสนุนทางธุรกิจ

สถาบันสนับสนุนทางธุรกิจ
        สถาบันการเงินถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของธุรกิจ และเป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางด้านการเงินแก่ธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะกิจการธนาคาร ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความจำเป็นและสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ

ความหมายของธนาคาร
ธนาคาร คือ สถาบันการเงินทางธุรกิจที่ทำหน้าที่ระดม เงินทุนจากผู้ที่มีเงินเหลือใช้ และต้องการเก็บออมด้วยการรับฝากเงิน โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในรูปดอกเบี้ยและใช้เงินทุนนั้นทำประโยชน์ต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละธนาคารและให้บริการอื่น ๆ
ประเทศไทยแบ่งธนาคารออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ธนาคารเฉพาะกิจ
3. ธนาคารพาณิชย์

1. ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารกลาง หรือ ธนาคารแห่งชาติ ใช้อักษรย่อว่า ธปท.   เป็นสถาบันในการบริการควบคุมการเงินในระดับสูงของประเทศ ซึ่งทุกประเทศจะต้องมีธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎระเบียบที่วางไว้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485
"ธนาคารแห่งประเทศไทย" (Bank of Thailand) มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. ออกธนบัตรและพิมพ์ธนบัตรโดยร่วมมือกับกระทรวงการคลัง
2. เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ รับฝากเงิน ตรวจสอบการให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์
3. เป็นนายธนาคารของรัฐบาล คือ การเก็บรักษาเงินฝากของรัฐ เป็นตัวแทนของรัฐในด้านการเงินทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้ให้กู้ยืมแก่รัฐบาล
4. ควบคุม ตรวจสอบสถาบันการเงินเพื่อความมั่นคงของประชาชนที่ใช้บริการของสถาบันการเงิน และกำกับให้สถาบันการเงินดำเนินการอยู่ในขอบเขตแห่งกฎหมาย
5. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หมายถึง การควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศ กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินตราสกุลอื่นๆ
6. รักษาทุนสำรองระหว่างประเทศให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมทั้งภายนอกและภายในประเทศ
7. กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศ

2. ธนาคารเฉพาะกิจ
ธนาคารเฉพาะกิจ หมายถึง ธนาคารพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
1. ธนาคารออมสิน(The Government Saving Bank ) ตั้งขึ้นเพื่อนำเงินฝากของประชาชนและผลประโยชน์ทางการค้ามาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ 
2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์(Government Housing Bank) ตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมการนำเงินไปลงทุนเกี่ยวกับการซื้อที่ดิน และการสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (Bank for Agriculture and Agricultural Cooperatives) ตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรของประเทศ ให้เกษตรกรกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ
4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Export-Import Bank of Thailand)  จัดตั้งเพื่อให้บริการด้านการเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าหรือบริการ รวามทั้งส่งเสริมการลงทุนภายในต่างประเทศ
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดตั้งเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจในด้านการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

3. ธนาคารพาณิชย์
ธนาคารพาณิชย์ หมายถึง ธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบการธนาคารพาณิชย์ และมีความหมายรวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ หรือหมายถึงการประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้กำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง
ธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่หลักดังนี้
1. รับฝากเงินจากประชาชนและให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของเงินเป็นดอกเบี้ยแบ่งเป็นดังนี้
- ฝากประจำ มีกำหนดแน่นอนให้เจ้าของเงินทวงถาม
- ฝากเผื่อเรียก การจ่ายเงินแก่เจ้าของเงินเมื่อไรก็ตามที่ทวงถาม
- ฝากกระแสรายวัน การจ่ายเงินแก่เจ้าของเงินทวงถามได้ทุกเมื่อด้วยเช็ค
2. สร้างเงินฝาก คือ การนำเงินฝากไปลงทุนต่าง ๆ เช่น ให้กู้ยืม ซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ
3. การโอนเงินระหว่างธนาคารในท้องถิ่นและระหว่างประเทศ
4. การเรียกเก็บเงิน โดยเรียกเก็บตามเช็ค ตั๋วเงิน ดร๊าฟ ที่ครบกำหนดโดยลูกค้าไม่ต้องเก็บเงินเอง
5. การให้เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาขอมีค่าของลูกค้าที่มาเช่าไว้ เพื่อความปลอดภัยที่มั่นคงของทรัพย์สิน
6. การบริการเป็นตัวแทน เช่น ซื้อขายหุ้น ชำระค่าทะเบียนรถยนต์ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เสียภาษี ฯลฯ
7. บริการการค้า เช่น การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ การออกใบค้ำประกันการซื้อขาย

บริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์
บริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.บริษัทเงินทุน หมายถึง บริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนอันได้แก่ กิจการเงินทุน เพื่อการพาณิชย์ กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและบริโภค และ กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ
2.บริษัทหลักทรัพย์ หมายถึง บริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประกอบกิจการด้านการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ทำการค้าหลักทรัพย์ ให้คำปรึกษาในการลงทุนกิจการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และ กิจการจัดการลงทุน เป็นต้น
3.บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) หมายถึง บริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ เงินทุน และ หลักทรัพย์ ควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่ม "ใหญ่ที่สุด" ของกลุ่มบริษัทเหล่านี้

บริษัทเงินทุน
บริษัทเงินทุนมีลักษณะการประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกับธนาคารพาณิชย์กล่าวคือ ทำหน้าที่ระดมเงินจากประชาชนด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และ นำเงินนั้นไปหาผลประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด การดำเนินงานของบริษัทเงินทุนแบ่งออกเป็น
1.การให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจรายใหญ่..เป็นบริการคล้ายคลึงกับธนาคารพาณิชย์แต่ไม่สามารถให้บริการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ และ บัญชีกระแสรายวันที่ใช้เช็คสั่งจ่ายในการรับฝากเงิน บริษัทเงินทุนจะไม่ออกสมุดรับฝากเงินเพื่อเป็นหลักฐานการฝากเงิน แต่จะออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ให้กู้ยืม(ผู้ฝาก) โดยจะกำหนดเวลาชำระคืนเอาไว้ เช่น เมื่อทวงถาม 1 เดือน 3 เดือน หรือ 1 ปี การระดมเงินออมของบริษัทเงินทุนจะเสียเปรียบธนาคารพาณิชย์เพราะมีการกำหนดวงเงินขึ้นต่ำที่จะกู้ยืมจำนวนสาขามีน้อยหรือไม่มีเลย แต่การให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์สามารถทดแทนความเสียเปรียบข้างต้นได้ สำหรับการใช้สินเชื่อแก่ธุรกิจรายใหญ่มีการให้กู้ทั้งประเภทระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี หรือ ระยะยาวเกิน 1 ปี
2.การให้กู้ยืมแก่ธุรกิจการค้าทั่วไป เป็นการให้บริการทางการเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ คือ เป็นการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็ก บริษัทการค้าธรรมดา ร้านค้า และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น แพทย์ วิศวกร ซึ่งลักษณะการให้กู้จะเป็นการให้กู้ในวงเงินไม่สูงนัก และ เป็นการกู้ระยะสั้น
3.การให้กู้ยืมแก่ผู้บริโภค เป็นการให้บริการเงินกู้แก่บุคคลธรรมดา เพื่อการศึกษา เดินทาง หรือการซ่อมแซมบ้านเรือน การให้เงินกู้เพื่อผ่อนส่งสินค้าเมื่อตกลงจะให้เช่าซื้อ และการให้กู้ยืนแก่ผู้ดำเนินธุรกิจ การจำหน่ายสินค้าโดยการให้เช่าซื้อเช่น รถยนต์ รถแทรกเตอร์ ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกภายในบ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ระยะเวลาการกู้เงินเป็นระยะป่านกลางไม่เกิน 3 ทั้งนี้รวมถึงการให้กู้เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ซึ่งธนาคารพาณิชย์และเครดิตฟองซิเอร์เข้ามาบริการด้วย

บริษัทหลักทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์เป็นบริษัทรับอนุญาตที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับหลักทรัพย์รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กสต.) บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการต่าง ๆ ดังนี้
1.การรับประกันการขายหุ้นหรือหุ้นกู้ออกใหม่(underwriting) โดยบริษัทหลักทรัพย์จะเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทที่ต้องการเงินเพิ่มทุนจำนวนมากและในเวลาจำกัด กับผู้ที่จะลงทุนซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ บริษัทหลักทรัพย์จะทำหน้าที่วิเคราะห์ฐานะของบริษัท รวบรวมข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน และเผยแพร่ให้ผุ้ลงทุนทราบ
บริษัทหลักทรัพย์จะประกันการขายหุ้น โดยอาจจะรับประกันการจำหน่าย ถ้าหากขายหุ้นได้ไม่หมดก็จะรับซื้อไว้เอง หรืออาจเป็นเพียงตัวกลางการขายหุ้นโดยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อหุ้น หรือหุ้นกู้นั้น ๆ เมื่อขายไม่หมด บริษัทหลักทรัพย์จะได้รับค่าธรรมเนียมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาหุ้น หรือ หุ้นกู้ที่นำออกขาย
2.การค้าหลักทรัพย์ คือ การที่บริษัทหลักทรัพย์ซื้อและขายหุ้นเพื่อการลงทุนของบริษัทเอง ถือว่าเป็นการลงทุนโดยหวังผลประโยชน์จากเงินปันผลของหุ้นที่ได้ซื้อไว้
3.การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยเป็นตัวแทนทำการแทนลูกค้าในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์(ไม่ได้ลงทุนเอง) บริษัทหลักทรัพย์จะคิดค่าบริการเท่ากับร้อยละ 0.5 ของราคาหุ้นที่ซื้อและขายแต่ละครั้ง พร้อมทั้งทำหน้าที่โอนหุ้นให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย
4.การจัดการลงทุน การประกอบธุรกิจจัดการกองทุนรวม เดิมมีเพียงบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม ที่ได้รับอนุญาตทำธุรกิจประเภทนี้ ต่อมาทางการได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) เพิ่มขึ้นในปี 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผู้ลงทุนประเภทสถาบันในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น เป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหลักทรัพย์
5.การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน คือ การให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ของธุรกิจและกิจการของธุรกิจโดยได้รับค่าตอบแทนในรูปของค่าธรรมเนียม

บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์
บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ตั้งขึ้นครั้งแรกในรูปของบริษัทค้าหลักทรัพย์ก่อนเมื่อ พ.ศ.2496 โดยใช้ชื่อว่าบริษัท เบิร์ด จำกัด ในระยะแรกบริษัทนี้ได้ประกอบกิจการการสั่งสินค้าเข้าและการส่งออกเป็นหลักจนกระทั่ง พ.ศ.2506 จึงได้ดำเนินการธุรกิจนายหน้าค้าหุ้นหรือหลักทรัพย์อย่างจริงจัง และ ในพ.ศ.2503 กลุ่มเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศได้จัดตั้งสถาบันการเงินประเภท บริษัทจัดการลงทุน(Investement Management Company) ซึ่งดำเนินกิจการลักษณะ กองทุนรวม(Mutual Fund) โดยใช้ชื่อว่า กองทุนรวมไทย และ ในพ.ศ.2505 กลุ่มอุตสาหกรรมไทยเอกชนร่วมกันจัดตั้งกิจการดำเนินงานในลักษณะสถานปริวรรตหุ้น (Stock Exchange)หรือที่เรียกว่าตลาดหลักทรัพย์โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ตลาดหุ้นกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Stock Exchange) ในปีต่อ ๆ มามีบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 
ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ คือ ธุรกิจที่ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินโดยวิธีการรับจำนอง รับซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ระบุว่าธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หมายถึง ธุรกิจฟองซิเอร์ประเภท (1) กิจการเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่ง กิจการเครดิตฟองซิเอร์หมายถึง กิจการให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าปกติ โดยที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 ระบุว่า อสังหาริมทรัพย์หมายถึง ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย สำหรับเครื่องจักรจึงไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ตามนิยามในประมวลกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การรับจำนองเครื่องจักรจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ด้วยเหตุผลข้างต้น ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับการรับจำนองเครื่องจักรอาจสอบถามได้ที่สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง โทร. 02-202-4068 หรือทางเว็บไซต์
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการระดมทุนด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป เพื่อนำมาให้ประชาชนกู้เงินไปซื้อที่ดินและการสร้างที่อยู่อาศัย ดังต่อไปนี้
- ให้กู้โดยมีบ้านและที่ดินค้ำประกัน
- ซื้อบ้านและที่ดินโดยให้สิทธิผู้ขายที่จะไถ่ถอนคืนได้
- ขายบ้านและที่ดินโดยวิธีเช่าซื้อ 


แบบฝึกหัดท้ายบทที่ 5
1.          ข้อใดหมายถึง ธนาคาร
ก.     สถาบันการเงินทางธุรกิจที่ทำหน้าที่ระดม เงินทุนจากผู้ที่มีเงินเหลือใช้ และต้องการเก็บออมด้วยการรับฝากเงิน
ข.     เป็นสถาบันในการบริการควบคุมการเงินในระดับสูงของประเทศ
ค.     ธนาคารพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ง.     ธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบการธนาคารพาณิชย์

2.          ข้อใดหมายถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย
ก.     สถาบันการเงินทางธุรกิจที่ทำหน้าที่ระดม เงินทุนจากผู้ที่มีเงินเหลือใช้ และต้องการเก็บออมด้วยการรับฝากเงิน
ข.     เป็นสถาบันในการบริการควบคุมการเงินในระดับสูงของประเทศ
ค.     ธนาคารพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ง.     ธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบการธนาคารพาณิชย์

3.          ข้อใดหมายถึง ธนาคารเฉพาะกิจ
ก.     สถาบันการเงินทางธุรกิจที่ทำหน้าที่ระดม เงินทุนจากผู้ที่มีเงินเหลือใช้ และต้องการเก็บออมด้วยการรับฝากเงิน
ข.     เป็นสถาบันในการบริการควบคุมการเงินในระดับสูงของประเทศ
ค.     ธนาคารพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ง.     ธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบการธนาคารพาณิชย์

4.          ข้อใดหมายถึง ธนาคารพาณิชย์
ก.     สถาบันการเงินทางธุรกิจที่ทำหน้าที่ระดม เงินทุนจากผู้ที่มีเงินเหลือใช้ และต้องการเก็บออมด้วยการรับฝากเงิน
ข.     เป็นสถาบันในการบริการควบคุมการเงินในระดับสูงของประเทศ
ค.     ธนาคารพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ง.     ธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบการธนาคารพาณิชย์

5.          ข้อใดหมายถึง บริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนอันได้แก่ กิจการเงินทุน เพื่อการพาณิชย์ กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและบริโภค และ กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ
ก.     บริษัทเงินทุน
ข.     บริษัทหลักทรัพย์
ค.     บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.)
ง.     บริษัทหลักทรัพย์

6.          ข้อใดหมายถึง บริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประกอบกิจการด้านการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ทำการค้าหลักทรัพย์
ก.     บริษัทเงินทุน
ข.     บริษัทหลักทรัพย์
ค.     บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.)
ง.     บริษัทหลักทรัพย์

7.          ข้อใดหมายถึง บริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ เงินทุน และ หลักทรัพย์ ควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง
ก.     บริษัทเงินทุน
ข.     บริษัทหลักทรัพย์
ค.     บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.)
ง.     บริษัทหลักทรัพย์

8.          ข้อใดหมายถึง เป็นบริษัทรับอนุญาตที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับหลักทรัพย์รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญ
ก.     บริษัทเงินทุน
ข.     บริษัทหลักทรัพย์
ค.     บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.)
ง.     บริษัทหลักทรัพย์

9.          ข้อใดหมายถึง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ก.     The Government Saving Bank
ข.     Government Housing Bank
ค.     Bank for Agriculture and Agricultural Cooperatives
ง.     Export-Import Bank of Thailand

10.     ข้อใดหมายถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ก.     The Government Saving Bank
ข.     Government Housing Bank
ค.     Bank for Agriculture and Agricultural Cooperatives
ง.     Export-Import Bank of Thailand

เฉลย 1.ก  2.ข  3.ค  4.ง  5.ก  6.ข  7.ค  8.ง  9.ค  10.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิชาเสริม Blogger